วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ประวัติ วิทยาลัยบางแสน

รวบรวมโดย อาจารย์ประชุม ท่าเรือรักษ์ จากหนังสือวิทยาลัยบางแสน ปี 2512
ต้นปี พ.ศ.2495 คณะรัฐบาลซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และพลเอก มังกร พรหมโยธี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ท่านนายกรัฐมนตรีได้ดำริให้กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งโรงเรียนประจำสำหรับนักเรียนชายขึ้น เพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งในการสอนและการอบรมอันจะเป็นผลดีแก่เด็ก โดยเหตุที่เด็กต้องอยู่ประจำจึงมีเวลามากได้รับการอบรมมากขึ้น เพราะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากครูตลอดเวลา ทั้งยังเป็นการฝึกฝนให้รู้จักการปฏิบัติตนในการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ
พลเอกมังกร พรหมโยธี จึงได้มีบัญชาให้กรมวิสามัญศึกษาซึ่งมี หลวงสวัสดิสาร ศาสตรพุฒิ เป็นอธิบดี ดำเนินการเรื่องนี้ต่อไป โดยให้ข้อคิดว่า โรงเรียนประจำที่จะจัดตั้งขึ้นนั้นควรจะเป็นโรงเรียนประเภทเรียนวิชาชั้นสูง เพื่อเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยต่อไป
ท่านอธิบดีกรมวิสามัญศึกษาได้รับเรื่องมา และจัดดำเนินการให้สอดคล้องกับโครงการขยายงานด้านการศึกษาไปยังต่างจังหวัด เพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้วในส่วนกลาง โครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการจัดตั้งโครงการปรับปรุงการศึกษาขึ้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราอยู่แล้ว ด้วยความร่วมมือขององค์การสหประชาชาติ ว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม (UNESCO) เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2494 มีวาระการดำเนินงานขั้นต้น 5 ปี เมื่อได้ทดลองปรังปรุงวิธีการที่เหมาะสมแล้วก็จะได้ขยายงานที่เป็นผลไปในจังหวัดใกล้เคียงต่อไป อธิบดีกรมวิสามัญศึกษาจึงได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็นขั้นๆดังนี้
ขั้นแรก ในปี พ.ศ. 2495 สำรวจสถานที่ ซื้อที่ดิน บุกเบิกวางผังก่อสร้าง
ขั้นที่สอง ในปี พ.ศ. 2496 ก่อสร้างหอพัก โรงอาหาร โรงครัว บ้านพักครู ห้องน้ำนักเรียน พัศดุครุภัณฑ์ในการเรียน การนอน การรับประทานอาหาร
ขั้นที่สาม ปี พ.ศ. 2497 สร้างอาคารเรียน เริ่มเปิดรับนักเรียน
การดำเนินการตามโครงการขั้นแรก
หลังจากได้สำรวจหาสถานที่เพื่อการจัดตั้งโรงเรียนตามที่ต่างๆแล้ว ปรากฎว่าที่ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี เป็นสถานที่ที่เหมาะที่สุดในการที่จะดำเนินการก่อสร้าง และจัดตั้งเป็นโรงเรียนประจำ เพราะเป็นสถานที่ที่ไม่อยู่ห่างไกลจากจังหวัดพระนครมากนัก มีอากาศและสิ่งแวดล้อมดี ทั้งเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นศูนย์กลางการศึกษาทางภาคตะวันออกในอนาคตอีกด้วย จึงได้จัดซื้อที่ดินบุกเบิก และวางแผนผังอาคารต่างๆ ตลอดจนการก่อสร้างได้ดำเนินต่อมาจนกระทั่งปัจจุบัน
นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ยืมเงินของกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีก่อน เป็นจำนวนเงิน 951,400 บาท ได้จัดซื้อที่ดินดอนมะสัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ดินของพระยาโทณวนิกมนตรี ได้เนื้อที่ทั้งหมด 102 ไร่ 3 งาน 46.2 ตารางวา เป็นเงินทั้งสิ้น 960,230 บาท ทั้งนี้กรมวิสามัญศึกษาได้อนุมัติเงินบำรุงการศึกษาของกรมฯ เพิ่มเติมอีก 8,830 บาท
การดำเนินการตามโครงการขั้นที่สอง
ในปี พ.ศ. 2496 กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณการจรค่าก่อสร้างสถานที่ราชการเป็นค่าซื้อที่ดินรายนี้ 951,400 บาท จึงได้ส่งใช้คืนเงินที่ยืมมาจากกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และได้รับงบประมาณการจรค่าขยายงานมาเป็นค่าก่อสร้างอาคารในโครงการอีก 1,600,000 บาทได้สร้างหอนอน 1 หลัง (หอนอน 1) โรงอาหาร 1 หลัง
พลเอกมังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานในการวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2496 เวลา 10.30 น. (ตำแหน่งของศิลาฤกษ์อยู่ทางมุกเหนือด้านทิศตะวันออก)จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เป็นประธานในพิธีเปิดเมื่อ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2496 เวลา 14.00 น.
การดำเนินงานตามโครงการขั้นที่สาม
ในปี พ.ศ. 2497 ได้รับเงินพิเศษ ก.ศ.ส. 3,530,000 บาท เริ่งสร้างอาคารเรียน 1 หลัง บ้านพักครู 3 หลัง เครื่องนอนเครื่องใช้ในการเลี้ยง เครื่องโสตทัศนศึกษา จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารเรียน เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2498 เวลา 7.45 น.
วิทยาลัยบางแสน ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี มีเนื้อที่อันกว้างใหญ่ไพศาลพรั่งพร้อม และยังความร่มรื่นจากสวนมะพร้าว ได้รับอากาศอบอุ่นตลอดปีเพราะอยู่ใกล้ชายทะเล มีความเงียบสงัดพอควรไท่ห่างไกลจากชุมชนมากนัก จึงเป็นสถานที่เหมาะสมเป็นสถานศึกษาอย่างยิ่ง มีอาณาเขตดังนี้
ทิศเหนือ ติดถนนบางแสน ทิศใต้ ติดที่ของชาวบ้าน ทิศตะวันออก ติดที่ของวิทยาลัยวิชาการศึกษาบางแสน ทิศตะวันตก ติดที่ของโรงเรียนสาธิตพิบูลบำเพ็ญ วศ.บางแสน ไกลจากจังหวัดพระนคร ประมาณ 100 กิโลเมตร ไกลจากจังหวัชลบุรี 16 กิโลเมตร ไกลจากอำเภอศรีราชา ประมาณ 16 กิโลเมตร ไกลจากหนองมน ประมาณ 2 กิโลเมตร ไกลจากสถานตากอากาศบางแสน ประมาณ 500 เมตร
วิทยาลัยบางแสนได้เริ่มสร้างอาคารหลังแรกขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2496 เมื่อการก่อสร้างใกล้จะเสร็จ ได้มีประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องจัดตั้งวิทยาลัยบางแสน เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2497
"ด้วยกระทรวงศึกษาธิการเห็นเป็นการสมควรจัดตั้งสถานศึกษา เป็นวิชาสามัญศึกษาตอนปลายขึ้นเป็นโรงเรียนประจำสำหรับนักเรียนชาย ที่ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ให้ชื่อสถานแห่งนี้ว่า วิทยาลัยบางแสน และให้วิทยาลัยบางแสนนี้สังกัดกองโรงเรียนรัฐบาลส่วนกลาง กรมวิสามัญศึกษา"




บันทึกหมายเหตุ
วิทยาลัยวิชาการศึกษาบางแสน เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปี 2498 หลังจากวิทยาลัยบางแสน 1 ปี และเข้ามาใช้อาคารเรียน(อาคารอนุรักษ์) ในการเรียนการสอน รวมทั้งที่พักชั่วคราวของคณะอาจารย์ จึงถือว่าอาคารเรียนของวิทยาลัยบางแสน ซึ่งปัจจุบันขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและใช้ชื่อว่า อาคารอนุรักษ์ คณะพยาบาลศาสตร์  เป็นอาคารใช้งานที่เก่าแก่ที่สุดในมหาวิทยาลัยบูรพา มีอายุกว่า 56 ปี



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น