วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2553

งานสังสรรค์วิทยาลัยบางแสน เสาร์ที่ 29 มกราคม 2554

                                                                                                3 ธันวาคม 2553

เรื่อง   ขอเรียนเชิญร่วมทำบุญและสังสรรค์ศิษย์เก่าวิทยาลัยบางแสน

เรียน   คณาจารย์และศิษย์เก่าวิทยาลัยบางแสนทุกท่าน 

          ขอเรียนเชิญทุกท่านร่วมงานทำบุญ และสังสรรค์ประจำปี ของชาวศิษย์เก่าวิทยาลัยบางแสนในวันเสาร์ที่ 29 มกราคม 2554
         
ในครั้งนี้ คณะกรรมการจัดงานใคร่ขอเรียนเชิญทุกท่านไปร่วมทำบุญฟังพระภิกษุสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์และถวายภัตตาหารเพลที่อาคารเรียนเดิมของเราที่บางแสนเป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้ ทุกท่านคงทราบดีถึงการที่เมื่อหลายปีก่อนทางมหาวิทยาลัยบูรพาเคยมีแผนจะรื้ออาคารเรียนของเรา ที่สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2496 ทิ้ง เพื่อสร้างตึกใหม่ให้สูงกว่าเก่าที่มีเพียงสองชั้น แต่รุ่นพี่ๆของเราได้ช่วยกันเดินเรื่องให้อาคารนั้นได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอาคารอนุรักษ์ ครั้นต่อมาอาคารนั้นค่อยๆทรุดโทรมไป ด้วยฐานรากชำรุดจนเกือบพังทลาย ทั้งหลังคาและฝ้าเพดานก็ทรุดโทรมมากจนต้องทิ้งร้างไปพักหนึ่ง ซึ่งถ้าอาคารพังไปเองก็คงเข้าทางของผู้ที่ต้องการที่จะสร้างตึกใหม่ และพวกเราก็คงจะไม่เหลืออะไรเป็นอนุสรณ์ ณ ที่ตั้งโรงเรียนเดิมของเรา แต่โชคดีที่มีผู้เห็นคุณค่า จึงได้แจ้งให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา และคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ทราบ จนมีการจัดงบมาบูรณะซ่อมแซมใหญ่ จนบัดนี้เสร็จสิ้นเรียบร้อยกลับมาอยู่ในสภาพดีสง่างามดังเดิม นับเป็นมิ่งขวัญแก่พวกเราอย่างยิ่ง อีกทั้งยังมีการพบศิลาฤกษ์ที่ทำพิธีโดยจอมพล ป. เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญ และขณะนี้มีสามคณะมาใช้งานในอาคารคือ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร์ และคณะศึกษาศาสตร์

          บุคคลากรของคณะพยาบาลศาสตร์ คือคุณฆโนทัย ยินดีสุข ได้ติดต่อผ่านคุณชูชัช(ปกรณ์) มโนธรรม ศิษย์เก่ารุ่น 14 ของเรา (ซึ่งเป็น webmaster ของเว็บไซต์ของเราด้วย) แจ้งว่าทางคณะพยาบาลศาสตร์ได้ค้นหาข้อมูลพบว่าวันสถาปนาวิทยาลัยบางแสนของเราเป็นวันที่ 30 มกราคม ทางคณะฯจึงได้ดำริจะจัดทำบุญนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์และฉันภัตตาหารเพล ในวันเสาร์ที่ 29 มกราคม 2554 และอยากให้พวกเราไปร่วมทำบุญกันมากๆ คณะกรรมการจัดงานจึงเห็นเป็นสมควรที่จะสนองเจตนาดีของชาวคณะพยาบาลศาสตร์ ม.บูรพา และแสดงความขอบคุณในความพยายามช่วยอนุรักษ์อาคารเรียนของเรา ทั้งยังเป็นโอกาสอันดีที่พวกเราจะได้ไปชื่นชมกับความสวยงามของตึกเรียนของเรา และรำลึกถึงสถานที่รวมทั้งครูอาจารย์ ซึ่งได้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้แก่พวกเรา จนได้เป็นตัวเป็นตนอยู่จนค่อยๆแก่เฒ่ามาถึงทุกวันนี้ จึงใคร่ขอเชิญชวนให้เราไปร่วมงานทำบุญกันมากๆ ในวันเสาร์ที่ 29 มกราคม 2554 เริ่มเวลา 10:00 น. ที่ตึกเรียนเดิมของเราที่บางแสน

           หลังเสร็จพิธีทำบุญและรับประทานอาหารกลางวันกันแล้ว เราก็เดินทางสู่กรุงเทพมหานครตอนบ่าย เพื่อร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ที่สโมสรราชตฤณมัยสมาคม (สนาม้านางเลิ้ง) เริ่มตั้งแต่ 18:00 น. เป็นต้นไป

            คณะกรรมการจัดงานมีความยินดีขอแจ้งให้ท่านทราบด้วยว่า การจัดงานในปีนี้ทางกองทุนศิษย์เก่าวิทยาลัยบางแสนได้ให้ความอนุเคราะห์สบทบค่าใช้จ่ายมาเป็นเงิน 75,000 บาท ดังนั้น เงินที่จะขอสมทบจากศิษย์เก่าแต่ละรุ่นจะลดเหลือเพียงรุ่นละ 5,000 บาท เท่านั้น และคณะกรรมการจัดงานขอถือโอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อคณะกรรมการกองทุนฯ มา ณ ที่นี้

            รายละเอียดเพิ่มเติมคณะกรรมการจัดงานจะเรียนให้ท่านทราบในจดหมายฉบับต่อไป และท่านสามารถติดตามข่าวได้ที่เว็บไซต์ http://bangsaencollege2497.wordpress.com/

            แล้วพบกันนะครับ

            ขอแสดงความนับถือ

    ดุสิต นนทะนาคร รุ่น 6, 
    ประธานกรรมการจัดงาน โทรศัพท์  081  835  0374
    ธานินทร์ บำรุงทรัพย์ รุ่น 7 โทรศัพท์ 081 927 8104
    ปรีชา ชัยรัตน์ รุ่น 8 โทรศัพท์ 081 804 7683
    ธนิสร (อดิศร) ทิมเที่ยง รุ่น 9 โทรศัพท์ 089 133 8891
    ปรีชา หาญประมุขกุล รุ่น 9 โทรศัพท์ 081 424 6160
    ศิริปัญญา ตุงคะสมิต รุ่น 10 โทรศัพท์ 081 490 0008                                     

วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

งานศพพี่ยงยศ จารุรัตน์ (รุ่น 7)

ได้รับแจ้งจากพี่ธานินทร์ (รุ่น 7) ว่าวันนี้(10 พ.ย.2553) มีงานสวดอภิธรรมศพ พี่ยงยศ จารุรัตน์ ที่วัดชลประทานรังสฤต จังหวัดนนทบุรี และฌาปณกิจศพในวันพรุ่งนี้ (11 พ.ย.2553)

วันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

จดหมายจากพีธานินทร์ (รุ่น 7)

เรื่อง : งานสังสรรค์ศิษย์เก่าวิทยาลัยบางแสนวันเสาร์ที่ 29 มกราคม 2554
เรียน : พี่ๆและเพื่อนๆ ศิษย์เก่าวิทยาลัยบางแสน
          ตามที่คณะกรรมการจัดงานสังสรรค์ศิษย์เก่าวิทยาลัยบางแสนได้มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2553 ว่าจะจัดงานสังสรรค์ในวันเสาร์ที่ 29 มกราคม 2554 โดยอาจจะจัดที่บางแสน แต่ให้ลองไปสำรวจสถานที่และสอบถามเสียงส่วนใหญ่ก่อนนั้น
          ผมต้องขอขอบคุณพี่สัมพันธ์ ประสังสิต ที่ช่วยเป็นธุระทำหนังสือเวียนสอบถามพี่ๆ รุ่น 1 และขอบคุณพี่ๆ ที่ส่งคำตอบมาที่ผมดังนี้
ก)       ท่านที่ตอบจะไปร่วมงานทำบุญตอนเพลและงานเลี้ยงตอนค่ำ มีพี่สถาพร จิตรจรูญ และพล.ต.ต. สมเจตน์ ศิริกุล
ข)       ท่านที่ตอบจะไปร่วมงานเลี้ยงตอนค่ำมีพี่ประสพ วานิชดี และพล.ต.อ. สมชาย มิลินทางกูร
ค)       ท่านที่ตอบจะไปร่วมงานทำบุญตอนเพลมีพี่อำพล ฉายานนท์
ง)        ท่านที่ตอบว่าไม่สามารถไปร่วมงานได้ไม่ว่าจะจัดที่ไหนมีพี่ธีรยุทธ์ หล่อเสิศรัตน์ เนื่องจากอยู่ในระหว่างปฏิบัติธรรมที่จ.จันทบุรี

จึงนับว่าเสียงส่วนใหญ่ที่ตอบมาจากรุ่น 1 แสดงความจำนงจะไปร่วมงานที่บางแสน

นอกจากนั้นผมได้คำตอบจากพี่กริช อาทิตย์แก้ว ผู้แทนรุ่น 4 ว่ามีผู้ตอบว่าจะไปร่วมงานที่บางแสนจำนวนมากเกิน 10 คน

ส่วนรุ่น 7 ของผมเอง คุณชัยศรี จิวะวิโรจน์ได้สอบถาม ได้ผลว่าส่วนใหญ่อยากไปร่วมงานสังสรรค์ที่บางแสน

แต่ผมต้องขอเรียนให้ทุกท่านทราบว่าในการประชุมคณะกรรมการจัดงานครั้งต่อมาเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม คณะกรรมการมีมติจะไม่จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ที่บางแสน ด้วยเหตุผลเรื่องความไม่สะดวกของสถานที่เท่าที่ได้ไปสำรวจมา แต่จะจัดที่สนามม้านางเลิ้งเช่นเคย ผมจึงต้องขออภัยพี่ๆและเพื่อนๆทุกท่าน ที่อาจจะเสียความตั้งใจที่อยากจะไปร่วมงานสังสรรค์ที่บางแสนในครั้งนี้ และหวังว่าในปีหน้าคงจะได้มีโอกาสพิจารณากันใหม่

แต่อย่างไรก็ตาม งานทำบุญนิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระพุทธมนต์และฉันอาหารเพลยังคงจะจัดที่ตึกเรียนเดิมของเราที่บางแสน ในตอนสายวันเสาร์ที่ 29 มกราคม 2554 จึงเรียนเชิญทุกท่านไปพร้อมกันที่นั่นให้มากๆ เชิญพบกันประมาณ 9 น. (ก่อน 10 น.)

ทั้งนี้ ผมขอเน้นการแสดงความขอบคุณในน้ำใจของชาวคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาและท่านอื่นๆหลายท่าน รวมทั้งท่านอธิการบดีที่ได้ช่วยหาเงินมาบูรณะตึกเรียนเก่าของเราที่ใกล้จะพังให้มีสภาพแข็งแรงสมเป็นอาคารอนุรักษ์สำเร็จลุล่วงด้วยดี เราจึงควรไปร่วมงานทำบุญกันมากๆ ให้ผู้ที่มีน้ำใจเหล่านั้นได้ชื่นใจ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ การแสดงความผูกพันทางจิตวิญญานของเราต่อสถานที่ที่ทำให้เรามีความรู้เป็นตัวเป็นตนอยู่ทุกวันนี้ จึงหวังว่าพวกเราจะพร้อมใจกันไปร่วมพิธีทำบุญกันให้มากหน้าหลายตาในโอกาสพิเศษนี้ แล้วกลับมางานเลี้ยงสังสรรค์กันตอนค่ำที่กรุงเทพฯ

สำหรับตัวผมและเพื่อนๆ จำนวนหนึ่งตั้งใจว่าจะไปตั้งแต่วันศุกร์ที่ 28 มกราคม 2554 ไปช่วยกันเตรียมงานพิธีทำบุญร่วมกับชาวคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา แล้วไปพักค้างคืนและสังสรรค์กลุ่มย่อยที่บางแสน เพื่อที่เช้าวันที่ 29 จะได้ไม่ต้องรีบออกจากกรุงเทพฯ แต่เช้า

จึงเรียนเชิญมายังทุกท่านครับ
                                                                          
ขอแสดงความนับถือ

                                                                         
นายธานินทร์ บำรุงทรัพย์
                                                                          
ผู้แทนศิษย์เก่าบางแสนรุ่น 7

วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ประวัติ วิทยาลัยบางแสน

รวบรวมโดย อาจารย์ประชุม ท่าเรือรักษ์ จากหนังสือวิทยาลัยบางแสน ปี 2512
ต้นปี พ.ศ.2495 คณะรัฐบาลซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และพลเอก มังกร พรหมโยธี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ท่านนายกรัฐมนตรีได้ดำริให้กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งโรงเรียนประจำสำหรับนักเรียนชายขึ้น เพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งในการสอนและการอบรมอันจะเป็นผลดีแก่เด็ก โดยเหตุที่เด็กต้องอยู่ประจำจึงมีเวลามากได้รับการอบรมมากขึ้น เพราะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากครูตลอดเวลา ทั้งยังเป็นการฝึกฝนให้รู้จักการปฏิบัติตนในการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ
พลเอกมังกร พรหมโยธี จึงได้มีบัญชาให้กรมวิสามัญศึกษาซึ่งมี หลวงสวัสดิสาร ศาสตรพุฒิ เป็นอธิบดี ดำเนินการเรื่องนี้ต่อไป โดยให้ข้อคิดว่า โรงเรียนประจำที่จะจัดตั้งขึ้นนั้นควรจะเป็นโรงเรียนประเภทเรียนวิชาชั้นสูง เพื่อเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยต่อไป
ท่านอธิบดีกรมวิสามัญศึกษาได้รับเรื่องมา และจัดดำเนินการให้สอดคล้องกับโครงการขยายงานด้านการศึกษาไปยังต่างจังหวัด เพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้วในส่วนกลาง โครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการจัดตั้งโครงการปรับปรุงการศึกษาขึ้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราอยู่แล้ว ด้วยความร่วมมือขององค์การสหประชาชาติ ว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม (UNESCO) เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2494 มีวาระการดำเนินงานขั้นต้น 5 ปี เมื่อได้ทดลองปรังปรุงวิธีการที่เหมาะสมแล้วก็จะได้ขยายงานที่เป็นผลไปในจังหวัดใกล้เคียงต่อไป อธิบดีกรมวิสามัญศึกษาจึงได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็นขั้นๆดังนี้
ขั้นแรก ในปี พ.ศ. 2495 สำรวจสถานที่ ซื้อที่ดิน บุกเบิกวางผังก่อสร้าง
ขั้นที่สอง ในปี พ.ศ. 2496 ก่อสร้างหอพัก โรงอาหาร โรงครัว บ้านพักครู ห้องน้ำนักเรียน พัศดุครุภัณฑ์ในการเรียน การนอน การรับประทานอาหาร
ขั้นที่สาม ปี พ.ศ. 2497 สร้างอาคารเรียน เริ่มเปิดรับนักเรียน
การดำเนินการตามโครงการขั้นแรก
หลังจากได้สำรวจหาสถานที่เพื่อการจัดตั้งโรงเรียนตามที่ต่างๆแล้ว ปรากฎว่าที่ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี เป็นสถานที่ที่เหมาะที่สุดในการที่จะดำเนินการก่อสร้าง และจัดตั้งเป็นโรงเรียนประจำ เพราะเป็นสถานที่ที่ไม่อยู่ห่างไกลจากจังหวัดพระนครมากนัก มีอากาศและสิ่งแวดล้อมดี ทั้งเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นศูนย์กลางการศึกษาทางภาคตะวันออกในอนาคตอีกด้วย จึงได้จัดซื้อที่ดินบุกเบิก และวางแผนผังอาคารต่างๆ ตลอดจนการก่อสร้างได้ดำเนินต่อมาจนกระทั่งปัจจุบัน
นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ยืมเงินของกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีก่อน เป็นจำนวนเงิน 951,400 บาท ได้จัดซื้อที่ดินดอนมะสัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ดินของพระยาโทณวนิกมนตรี ได้เนื้อที่ทั้งหมด 102 ไร่ 3 งาน 46.2 ตารางวา เป็นเงินทั้งสิ้น 960,230 บาท ทั้งนี้กรมวิสามัญศึกษาได้อนุมัติเงินบำรุงการศึกษาของกรมฯ เพิ่มเติมอีก 8,830 บาท
การดำเนินการตามโครงการขั้นที่สอง
ในปี พ.ศ. 2496 กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณการจรค่าก่อสร้างสถานที่ราชการเป็นค่าซื้อที่ดินรายนี้ 951,400 บาท จึงได้ส่งใช้คืนเงินที่ยืมมาจากกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และได้รับงบประมาณการจรค่าขยายงานมาเป็นค่าก่อสร้างอาคารในโครงการอีก 1,600,000 บาทได้สร้างหอนอน 1 หลัง (หอนอน 1) โรงอาหาร 1 หลัง
พลเอกมังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานในการวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2496 เวลา 10.30 น. (ตำแหน่งของศิลาฤกษ์อยู่ทางมุกเหนือด้านทิศตะวันออก)จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เป็นประธานในพิธีเปิดเมื่อ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2496 เวลา 14.00 น.
การดำเนินงานตามโครงการขั้นที่สาม
ในปี พ.ศ. 2497 ได้รับเงินพิเศษ ก.ศ.ส. 3,530,000 บาท เริ่งสร้างอาคารเรียน 1 หลัง บ้านพักครู 3 หลัง เครื่องนอนเครื่องใช้ในการเลี้ยง เครื่องโสตทัศนศึกษา จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารเรียน เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2498 เวลา 7.45 น.
วิทยาลัยบางแสน ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี มีเนื้อที่อันกว้างใหญ่ไพศาลพรั่งพร้อม และยังความร่มรื่นจากสวนมะพร้าว ได้รับอากาศอบอุ่นตลอดปีเพราะอยู่ใกล้ชายทะเล มีความเงียบสงัดพอควรไท่ห่างไกลจากชุมชนมากนัก จึงเป็นสถานที่เหมาะสมเป็นสถานศึกษาอย่างยิ่ง มีอาณาเขตดังนี้
ทิศเหนือ ติดถนนบางแสน ทิศใต้ ติดที่ของชาวบ้าน ทิศตะวันออก ติดที่ของวิทยาลัยวิชาการศึกษาบางแสน ทิศตะวันตก ติดที่ของโรงเรียนสาธิตพิบูลบำเพ็ญ วศ.บางแสน ไกลจากจังหวัดพระนคร ประมาณ 100 กิโลเมตร ไกลจากจังหวัชลบุรี 16 กิโลเมตร ไกลจากอำเภอศรีราชา ประมาณ 16 กิโลเมตร ไกลจากหนองมน ประมาณ 2 กิโลเมตร ไกลจากสถานตากอากาศบางแสน ประมาณ 500 เมตร
วิทยาลัยบางแสนได้เริ่มสร้างอาคารหลังแรกขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2496 เมื่อการก่อสร้างใกล้จะเสร็จ ได้มีประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องจัดตั้งวิทยาลัยบางแสน เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2497
"ด้วยกระทรวงศึกษาธิการเห็นเป็นการสมควรจัดตั้งสถานศึกษา เป็นวิชาสามัญศึกษาตอนปลายขึ้นเป็นโรงเรียนประจำสำหรับนักเรียนชาย ที่ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ให้ชื่อสถานแห่งนี้ว่า วิทยาลัยบางแสน และให้วิทยาลัยบางแสนนี้สังกัดกองโรงเรียนรัฐบาลส่วนกลาง กรมวิสามัญศึกษา"




บันทึกหมายเหตุ
วิทยาลัยวิชาการศึกษาบางแสน เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปี 2498 หลังจากวิทยาลัยบางแสน 1 ปี และเข้ามาใช้อาคารเรียน(อาคารอนุรักษ์) ในการเรียนการสอน รวมทั้งที่พักชั่วคราวของคณะอาจารย์ จึงถือว่าอาคารเรียนของวิทยาลัยบางแสน ซึ่งปัจจุบันขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและใช้ชื่อว่า อาคารอนุรักษ์ คณะพยาบาลศาสตร์  เป็นอาคารใช้งานที่เก่าแก่ที่สุดในมหาวิทยาลัยบูรพา มีอายุกว่า 56 ปี



วันอาทิตย์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เตรียมงานเลี้ยงสังสรรค์ครั้งที่ 34 (29 มกราคม 2554)

ประชุมคณะกรรมการจัดงานครั้งแรกประจำปีนี้
อาคารเรือนรับรอง SCG วันพุธที่ 29 กันยายน 2553
พี่ดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าไทย
อาคารเรียนซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นอาคารอนุรักษ์ คณะพยาบาลศาสตร์
อาคารเรียนซึ่งได้รับการบูรณะและรักษาสภาพเดิมไว้อย่างดี
ด้านหน้าอาคาร
บันไดทางขึ้นซึ่งใช้สำหรับเป็นฉากถ่ายรูปรวมของนักเรียนทุกรุ่น
ตั้งอยู่ริมหาดวอนนภาห่างจากโรงเรียนพิบูลย์เพียง 300 เมตร
ห้องอาหารด้านหน้าริมทะเล
ห้องพักให้สีสันแยกแต่ละชั้นไม่เหมือนกัน


ห้องอาหาร
ล๊อบบี้ด้านหน้า
โถงห้องพัก
ห้องประชุมและจัดงานเลี้ยงบนชั้นที่ 6 มีระเบียงล้อมรอบ
สระว่ายน้ำบนชั้น 2 ด้านหน้าติดทะเล


วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เริ่มสร้างบล๊อควิทยาลัยบางแสน

ผมสร้างเวปไซต์ศิษย์เก่าวิทยาลัยบางแสนมาตั้งแต่ปี 2005 โดยใช้ชื่อ bangsaencollege.spaces.live.com ของ Microsofts จนกระทั่งได้รับแจ้งว่าจะมีการยกเลิก spaces ไม่สามารถ update ได้ และให้ย้ายไปใช้ wordpress.com ผมก็จัดการย้ายจนเรียบร้อย สำหรับผู้ที่เคยเข้าชมทาง spaces ก็ยังคงเข้าได้เหมือนเดิมแต่จะถูกแปลงให้เข้ามาสู่หน้าเวปใหม่คือ bangsaencollege2497.wordpress.com แต่ดูเหมือนการใช้งานติดขัดไม่เหมือนกับ spaces เดิม เพราะ wordpress.com ทำงานในลักษณะของบล๊อก ไม่สามารถแสดงสไลท์โชว์ หรืออาจจะเป็นเพราะผมใช้งานไม่เป็นก็เป็นไปได้ เลยมีความจำเป็นต้องมองหาผู้ให้บริการ Blog ที่ช่วยให้เราสะดวกในการสร้าง ในการปรับปรุงหน้าเวป แต่เท่าที่ตรวจสอบแล้ว blogger.com ของ Google น่าจะตอบสนองความต้องการได้ดีที่สุด การใช้งานง่าย มีโปรแกรมสนับสนุนต่างๆมากมาย การเพิ่มบทความ ปรับปรุงแก้ไขทำได้ง่าย แต่อย่างไรก็ตามผมก็จะพยามทำไปพร้อมกันทั้ง bangsaencollege2497.wordpress.com และ bangsaencollege2497.blogspot.com ไปพร้อมกันจนกว่าสรุปว่าเวปไหนดีที่สุด




ชูชัช มโนธรรม